Bounce Rate
ใครที่กำลังทำเว็บไซต์หรือทำ SEO อยู่ยกมือขึ้น! เพราะถ้าหากคุณเป็นเจ้าของเว็บไซต์ หรือสนใจในการพัฒนา SEO ของเว็บไซต์ บทความนี้เหมาะมากๆ ที่คุณจะต้องอ่าน เพราะนี่คือเรื่องของเมตริกสำคัญอีกหนึ่งตัว นั่นคือคำว่า “Bounce Rate”
ฟังแค่ชื่อแบบนี้อาจจะยังนึกไม่ออกว่า ทำไมค่านี้ถึงได้สำคัญ แล้ว Bounce Rate ที่ Maewsom กำลังจะพูดถึงนั้นมันคืออะไร และถ้าต้องการทำให้ค่านี้มีประสิทธิภาพจะมีเทคนิคอะไรที่ช่วยได้บ้าง มามะ ตามแมวส้มมาเลย เพราะเรามีคำตอบแบบละเอียดมาฝากกันแล้วนะเมี้ยว~
Bounce Rate คืออะไร
Bounce Rate คือ เมตริกหนึ่งที่ใช้ในการวัดผลของผู้เข้าชมที่เข้ามาในเว็บไซต์เพียงหน้าเดียวแล้วออก โดยไม่ได้ทำการกดเข้าไปยังหน้าอื่นๆ เพิ่มเติม (The percentage of single-page sessions) ไม่ว่าจะอยู่นานหรืออยู่เพียงไม่กี่วินาที แต่ถ้าไม่มีการปฏิสัมพันธ์กับหน้าเพจอื่นๆ เลย ก็ทำให้ค่า Bounce Rate ของเว็บไซต์เพิ่มสูงขึ้นได้ และค่านี้ยังสัมพันธ์กับคุณภาพของเว็บไซต์ด้วยว่า เราทำเว็บไซต์ออกมาได้ดีพอให้คนอยากใช้งานต่อได้หรือไม่อีกด้วย
สำหรับวิธีการคำนวณนั้นไม่ยากเลย โดยสูตรจะมี ดังนี้

ยกตัวอย่างเช่น มีคนเข้ามาใช้งานเว็บไซต์ของคุณรวมแล้วประมาณ 10,000 คนต่อเดือน และมีคนที่เข้าใช้งานหน้าเดียวแล้วกดออกไปเลยอยู่ประมาณ 5,000 คน แสดงว่า มี Bounce Rate ของเว็บไซต์อยู่ที่ 50% ของผู้ใช้งานทั้งหมด ถ้าเห็นแบบนี้ก็ต้องคิดแล้วนะว่า ทำไมคนครึ่งหนึ่งถึงได้เข้ามาเว็บไซต์เพียงแค่หน้าเดียวแล้วกดออกไปเลย
ทำไม Bounce Rate ถึงสำคัญ
เนื่องจาก Bounce Rate ถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญในการวัดคุณภาพของเว็บไซต์ นักการตลาด คนทำคอนเทนต์ คนทำ SEO หรือคนทำเว็บไซต์มักใช้ Bounce Rate ในการวัดคุณภาพของหน้าเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีว่ามีผู้เข้าชมแล้วกดออกไปเลยหรือเปล่าโดยไม่คลิกไปต่อหน้าอื่น ถ้าหากค่า Bounce Rate มีมากแสดงว่าหน้าเว็บไซต์นั้นๆ อาจจะกำลังมีปัญหาอะไรบางอย่างอยู่ Bounce Rate จึงเป็นเหมือนค่าที่ใช้ตรวจสุขภาพของเว็บไซต์ได้อีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง
สาเหตุอะไรทำให้ Bounce Rate สูงขึ้นหรือต่ำลง
สำหรับ Factor ที่ทำให้ค่า Bounce Rate สูงขึ้นหรือต่ำลง จะขึ้นอยู่ที่ปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งมักสัมพันธ์กับ SEO Performance ของเว็บไซต์ด้วย เช่น
- ความเร็ว-ช้าของ Page Speed ถ้าเว็บไซต์โหลดช้ามากๆ ก็คงไม่มีใครอยากใช้งาน แน่นอนว่า เข้ามาแล้วก็จะกดออกไปเลยทันที
- การออกแบบเว็บไซต์ยังไม่มีประสิทธิภาพก็จะทำให้ยอด Bounce Rate สูงขึ้น เช่น ออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์ซับซ้อน, คลิกอะไรก็หาไม่เจอ, ไม่มี Mobile Friendly Version เป็นต้น
- คอนเทนต์และ Keyword ที่ทำไม่สัมพันธ์กัน เช่น Keyword มี Search Intent เรื่องหนึ่งแต่เขียนคอนเทนต์ออกมาไม่ตอบคำถามกับสิ่งที่คนค้นหาก็จะทำให้คนคลิกเข้ามาแล้วกดออกไป
- ทำเว็บไซต์โดยไม่ได้คำนึงถึง Mobile Friendly ทำให้ไม่สามารถใช้งานในมือถือได้ดีเท่าที่ควร
- ประเภทของเว็บไซต์แต่ละแบบจะมี Bounce Rate ที่สูง-ต่ำไม่เท่ากัน เช่น หน้าเว็บไซต์ที่มีการแสดงผลข้อมูลเรียงลำดับหลายหน้า เช่น บทความ โพสต์บล็อก ฯลฯ จะมี Bounce Rate ที่สูงกว่าหน้าเว็บไซต์ที่มีการแสดงผลข้อมูลเพียงหน้าเดียว เช่น หน้าสินค้าหรือบริการ
- ปริมาณของเนื้อหา โดยเว็บไซต์ที่มีเนื้อหามากๆ บนหน้าเว็บไซต์เดียวกันจะมีโอกาส Bounce Rate ที่สูงกว่า
- ผู้ใช้งานเว็บไซต์อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่สนใจจะอ่านเนื้อหา บางคนอาจจะมีวัตถุประสงค์เข้ามาแค่หาเบอร์โทรศัพท์ หรือข้อมูลบางอย่างแล้วออกไป
- การทำโฆษณาที่เรียก Traffic เข้ามาจำนวนมากแต่หน้านั้นๆ ไม่ได้ช่วยทำให้เกิด Conversion ได้ก็อาจจะทำให้เกิด Bounce Rate สูงขึ้นด้วย
ค่า Bounce Rate ควรอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่
อย่างที่แมวส้มบอกไปแล้วว่าการที่เว็บไซต์จะมีค่า Bounce Rate ที่สูงขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย จึงอาจจะบอกตัวเลขตรงๆ ไม่ได้ว่า Bounce Rate ควรที่จะอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่กันแน่ แต่อาจจะอ้างอิงจาก Semrush ที่ทำการสรุปเอามาให้แล้วว่า เว็บไซต์แต่ละประเภทโดยเฉลี่ยแล้วจะมี Bounce Rate อยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ได้บ้าง ดังนี้

- เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซและค้าปลีก: Bounce Rate จะอยู่ที่ 20% ถึง 45%
- เว็บไซต์ B2B: Bounce Rate จะอยู่ที่ 25% ถึง 55%
- เว็บไซต์ทำ Lead Generation: Bounce Rate จะอยู่ที่ 30% ถึง 55%
- เว็บไซต์เนื้อหาที่ไม่ใช่อีคอมเมิร์ซ: Bounce Rate จะอยู่ที่ 35% ถึง 60%
- หน้า Landing Page: Bounce Rate จะอยู่ที่ 60% ถึง 90%
- พจนานุกรม พอร์ทัล และบล็อก: Bounce Rate จะอยู่ที่ 65% ถึง 90%
เทคนิคการทำให้ Bounce Rate ต่ำลงและดีต่อเว็บไซต์
อยากทำให้ Bounce Rate ต่ำลงและดีต่อเว็บไซต์ต้องทำยังไง ลองดูวิธีการที่แมวส้มรวบรวมมาให้แบบเน้นๆ ได้เลย ดังนี้
1. ปรับปรุงคุณภาพเนื้อหา
อันดับแรกเลยคือ การปรับปรุงการทำ On-Page ของเว็บไซต์ให้ดีขึ้น โดยอาจจะเริ่มจากการจัดการเนื้อหาบนหน้าเว็บไซต์แต่ละหน้าให้มีคุณภาพตามที่ Search Engine กำหนด เช่น
- ปรับ Title Tag, Meta Description, Heading Tag ให้ดีต่อการทำ SEO
- ออกแบบเนื้อหาในเว็บไซต์ให้มีคุณภาพและตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย
- ทำ Internal Link และ External Link ทั้งภายในและภายนอกเว็บไซต์
- ใส่ ALT ให้กับรูปภาพ
- ทำ URL Friendly โดยเขียนให้สั้นกระชับ และมีความหมายชัดเจน

และควรที่จะมีการทำ Keyword Research เพื่อหาคำที่เหมาะสมที่กลุ่มเป้าหมายของเว็บไซต์จะทำการค้นหา แล้วนำมาทำเป็น Keyword ในแต่ละหน้าเพจของเว็บไซต์ เพื่อให้คนสามารถเจอหน้าเว็บไซต์ที่คุณเขียนขึ้นมาได้ง่าย และมีโอกาสที่จะคลิกอ่านเนื้อหาในหน้าอื่นๆ ต่อไป เนื่องจากเว็บไซต์ออกแบบขึ้นมาตาม Search Intent ของคนจริงๆ
2. ออกแบบเว็บไซต์ให้ใช้งานได้ง่าย
เว็บไซต์ที่ใช้งานยากก็อาจทำให้ผู้ใช้งานไม่สนใจที่จะทำการคลิกไปต่อยังหน้าเว็บไซต์อื่นๆ ได้ ดังนั้น คุณควรพิจารณาการปรับปรุงการออกแบบเว็บไซต์ เพื่อให้มีการใช้งานและการเข้าถึงข้อมูลที่สะดวกสบาย โดยสิ่งที่คุณต้องทำเลยก็คือ การวางโครงสร้างเว็บไซต์ หรือ Site Structure ให้ใช้งานได้ง่ายและไม่ซับซ้อน ดังนี้
- จัด Category Page ให้เป็นระเบียบ
- เชื่อมต่อหน้าเพจที่เกี่ยวข้องกันด้วย Internal link
- จัดเลเวลของหน้าต่างๆ ไม่ให้เกิน 3-5 Level คือ คลิกไม่เกิน 3-5 ชั้นในการเข้าไปยังหน้าด้านในสุด
- ทำให้เว็บไซต์รองรับการใช้งานได้ครบทุกอุปกรณ์

ตัวอย่างการวางโครงสร้างเว็บไซต์ หรือ Site Structure
3. ลดเวลาโหลดหน้าเว็บไซต์
หากเว็บไซต์ของคุณโหลดช้า ผู้ใช้งานอาจไม่สนใจที่จะรอเว็บไซต์โหลดจนเสร็จ ดังนั้น การลดเวลาโหลดหน้าเว็บไซต์จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเยี่ยมชมหน้าเว็บไซต์อื่นๆ ได้มากขึ้น ซึ่งวิธีการปรับให้เว็บไซต์โหลดไวขึ้นจะมีอยู่ด้วยกันหลายส่วน เช่น
- บีบอัดขนาดรูปภาพด้วยการเปลี่ยนสกุลของไฟล์ภาพจาก Jpeg หรือ Png เป็น Webp หรือ AVIF ที่เบากว่า
- ใช้ไฟล์ภาพที่ใหญ่ไม่เกิน 300 KB ในส่วนรูปที่ไม่สำคัญ
- ใช้รูปภาพขนาดจริงเท่ากับที่แสดงบนหน้าเว็บไซต์ ไม่ทำไฟล์ที่ใหญ่กว่าเพราะจะทำให้โหลดรูปช้า
- ฝังฟอนต์ลงบนเว็บตรงๆ หรือใช้ Google Fonts
- ติดตั้ง Lazy Load ให้กับเว็บไซต์
- ทำ Caching เพื่อลดภาระของเซิร์ฟเวอร์

สำหรับใครที่ไม่แน่ใจว่าเว็บไซต์ของคุณโหลดช้าหรือเร็วสามารถใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า Pagespeed Insights ในการตรวจสอบฟรีได้เลยที่ https://pagespeed.web.dev/
4. ปรับปรุง UX/UI ของเว็บไซต์
การปรับปรุง UX/UI ของเว็บไซต์จะช่วยให้ผู้ใช้งานมีประสบการณ์ที่ดีกับเว็บไซต์ ดังนี้
- ออกแบบการใช้สีบนเว็บไซต์ให้เหมาะสม โดยอาจจะยึดตาม CI หรือ Corporate Identity ของแบรนด์
- มีลำดับเนื้อหาควรง่าย น่าสนใจ เป็นขั้นตอนโดยที่ไม่ต้องเลื่อนหาไปมา
- เป็นเนื้อหาที่มีความเฉพาะตัว (Unique Content) ไม่ได้ทำการคัดลอกจากคนอื่นมา
- Menu Bar และ Navigator ต้องเรียบง่าย เข้าใจง่าย ไม่ทำให้สับสน โดยการใช้ไอคอนอย่างถูกต้อง
- Block Card และ Section ต่างๆ ควรดีไซน์มาให้เหมาะสมกับการใช้งานในทุกอุปกรณ์
- ทำปุ่มต่างๆ ให้กดง่าย มีขนาดพอดีไม่ทำให้เกิดการกดพลาด
- ขนาดตัวอักษรต้องทำมาให้พอดีไม่เล็กจนเกินไป หรือถ้ากลุ่มเป้าหมายอายุเยอะควรออกแบบมาให้มีขนาดที่ผู้สูงอายุอ่านได้แบบสบายตา

ตัวอย่างการวางแผนและการออกแบบ Ux/Ui ด้วย Wireframe
สรุป
Bounce Rate เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของเว็บไซต์ก็จริงอยู่ แต่ก็ไม่ควรใช้ Bounce Rate เพียงค่าเดียวในการประเมินค่าคุณภาพของเว็บไซต์ แนะนำให้พิจารณาจากปัจจัยหลายๆ ปัจจัย และเน้นไปที่การปรับปรุงคุณภาพเนื้อหา การออกแบบเว็บไซต์ การลดเวลาโหลดหน้าเว็บไซต์ ความสะดวกสบายในการใช้งาน และการปรับปรุง UX/UI ให้มากขึ้น
หากคุณทำสิ่งเหล่านี้ได้ดีก็จะช่วยให้ Bounce Rate ของเว็บไซต์ของคุณต่ำลงและดีต่อ SEO ของคุณได้อย่างแน่นอนเลยล่ะเมี้ยว~
แต่ถ้าหากว่าใครกำลังมองหาบริษัทรับทำ SEO อยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง แนะนำให้ปรึกษาได้เลยครับ ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย