ออกแบบเว็บไซต์ยังไงให้ดีกับ SEO?​ หลักการพื้นฐานที่ต้องทำ ให้เว็บติดอันดับ

seo-friendly-website

หลักการออกแบบเว็บไซต์ SEO

การออกแบบเว็บไซต์ไม่ใช่แค่เรื่องของการทำเว็บไซต์ให้มีหน้าตาสวยงามเท่านั้นนะเหมียวว ~ 

เพราะการที่เราทำเว็บไซต์เว็บไซต์หนึ่งขึ้นมา จุดประสงค์ก็เพื่อที่จะให้มีคนเข้ามาเยี่ยมเยียน ‘บ้าน’ หรือ ‘หน้าร้าน’ ของเรา ซึ่งการที่เว็บไซต์ของเราจะไปปรากฏให้คนเห็นได้ ช่องทางหลักๆ คงหนีไม่พ้น Search Engine เจ้าต่างๆ โดยเฉพาะ Google 

ดังนั้น นอกจากเรื่องของความสวยงามแล้ว เราจึงต้องสนใจเรื่องของการออกแบบเว็บไซต์ให้ดีกับ SEO ด้วย เพื่อสร้างรากฐานเว็บไซต์ของเราให้มีปัจจัยที่เอื้อต่อติดอันดับบน Search Engine ได้ง่ายขึ้น
แล้วหลักการออกแบบเว็บไซต์ให้ส่งผลดีกับการทำ SEO จะมีอะไรบ้าง? แมวส้มรับหน้าที่รวบรวมความรู้มาให้อ่านเอง!

ทำไมออกแบบเว็บไซต์ต้องสนใจเรื่อง SEO

ออกแบบเว็บไซต์ ไม่แคร์เรื่อง SEO ได้ไหม? เชื่อว่าทุกวันนี้ คนเราทำเว็บไซต์ก็เพื่อที่จะอยากให้คนเข้ามายังเว็บไซต์ ไม่ว่าจะขายของ แนะนำบริการต่างๆ ก็ว่ากันไป ซึ่งนอกจากเรื่องของหน้าตาดีไซน์ที่เหมาะกับแบรนดิ้งแล้ว เรื่องของ SEO แมวส้มการันตีได้เลยว่า ควรแคร์!

  • ออกแบบเว็บไซต์ดี คนก็ชอบ เพราะการปรับเว็บไซต์ให้เหมาะกับ SEO นั้น หมายความรวมไปถึงการทำเว็บไซต์ให้ใช้งานง่าย โหลดเร็ว เพิ่ม User Experience หรือประสบการณ์การใช้งานให้ดีขึ้น
  • ช่วยให้ Search Engine เข้าใจเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น จากการออกแบบให้เว็บไซต์เข้าใจง่าย บอทหรือ Crawler เข้าใจว่า เว็บไซต์มีโครงสร้างอะไรและกำลังพูดถึงเรื่องอะไร ทำให้ถูกหยิบยกไปนำเสนอเป็นผลลัพธ์การค้นหาได้มากขึ้น
  • ทำอันดับเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น เห็นผลเร็วข้ึน เสมือนกับการติดกระดุมเม็ดแรกได้ถูก เมื่อทำเว็บให้พร้อมสำหรับ SEO การทำคอนเทนต์หรือปรับปรุง SEO ในด้านอื่นๆ ก็จะเห็นผลเร็วขึ้น (และไม่ต้องมาเสียเวลาแก้ปัญหา Technical SEO จากเว็บไซต์ด้วย)

“ตั้งต้นดี พื้นฐานเว็บไซต์ดี การทำ SEO ก็เห็นผลลัพธ์เร็วขึ้นเยอะ”

หลักการออกเว็บไซต์ให้ดีกับ SEO มีอะไรบ้าง? 

1. โครงสร้างเว็บไซต์หรือ Site Structure ต้องเรียบง่าย

เวลาเราจะสร้างบ้านให้แข็งแรงทนทาน เราจะเริ่มตั้งแต่โครงบ้านกันใช่ไหมครับ สำหรับเว็บไซต์ก็เหมือนกัน ถ้าจะออกแบบเว็บไซต์ให้ดีกับ SEO เราต้องเริ่มจากโครงสร้างเว็บไซต์ หรือ Site Structure กันก่อน 

โครงสร้างเว็บไซต์ หรือ Site Structure ก็คือ แผนผังที่เชื่อมเว็บเพจต่าง ๆ เข้าด้วยกันเป็นเว็บไซต์ โดยแผนผังเว็บไซต์ที่ดี ควรจะต้องเป็นโครงสร้างที่เรียบง่าย เรียงลำดับเพจที่สำคัญกว่าแล้วไล่ลำดับหน้าย่อย ๆ ที่สำคัญน้อยกว่าลงไปอย่างเป็นระบบ ให้ทั้งคนทั้งอัลกอริทึมเข้าใจเว็บไซต์ของเราได้ง่าย

โดยความสำคัญของการออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์ ก็ได้แก่

  • ช่วยให้ Search Engine ค้นหาและจัดทำ Index หน้าเพจต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ครบ 
  • ช่วยกระจายความสำคัญให้กับหน้าเพจต่าง ๆ ผ่านการทำลิงก์เชื่อมต่อกัน (หรือ Internal link
  • ช่วยให้ผู้ใช้งานเว็บไซต์ค้นหาอะไรเจอได้ง่าย ผ่านการจัดกลุ่มหน้าเพจอย่างเป็นระบบและไม่ซับซ้อน

ลองดูตัวอย่างแผนผังหรือโครงสร้างเว็บไซต์ที่ดีกัน

โครงสร้างเว็บไซต์ ที่เหมาะกับการทำ SEO

โครงสร้างเว็บไซต์ในตัวอย่างมีความเรียบง่ายมาก ๆ มีลำดับหน้าเพจเพียงแค่ 3 ชั้น เท่านั้น ลองจินตนาการว่า เราเข้าชมเว็บไซต์เว็บไซต์หนึ่ง หากต้องการดูหน้าสินค้า เราควรเข้าถึงได้ไม่เกิน 3 คลิก ยกตัวอย่างเช่น Home page > Category > Product กรณีนี้ เราเรียกว่า โครงสร้างเว็บไซต์เรียบง่ายและหน้าเพจต่าง ๆ ไม่อยู่ลึกจนเกินไป 

ทิปสำหรับโครงสร้างเว็บไซต์ หรือ Site Structure ที่ดีกับ SEO

  • ทำ Category Page เพื่อจัดกลุ่มเพจที่มีเนื้อหาในกลุ่มเดียวกัน
  • เชื่อมต่อหน้าเพจที่เกี่ยวข้องกันด้วย Internal link 
  • พยายามจัดชั้นหรือ Level ของหน้าเพจให้ไม่เกิน 3-5 Level (ในตัวอย่างมีแค่ 4 Level)

และนอกจากเรื่องโครงสร้างเว็บไซต์ที่เข้าใจง่ายแล้ว เราควรออกแบบ URL Structure ให้เรียบง่ายและเข้าใจง่าย สอดคล้องกับกับ Site Structure ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ยกตัวอย่างเช่น 

 https://yourwebsite/blog/seo-friendly-website ที่อ่านเพียง URL ก็เข้าใจว่าคือหน้าไหน

แทนที่จะเป็น 

https://yourwebsite/folder1/2023/5/new-page1234 ที่อ่านไม่รู้เรื่อง

2. ออกแบบเว็บไซต์ให้ใช้งานง่าย (User-Friendly) 

หลักการออกแบบเว็บไซต์ข้อต่อมา คือเรื่องความง่ายในการใช้งาน หรือ User Experience ที่เป็นมิตร หมายถึง คนที่เข้ามาใช้งานเว็บไซต์จะต้องหาสินค้า ข้อมูล หรือคอนเทนต์ที่เข้าต้องการได้ง่าย ใช้เวลาไม่นาน หรือคลิกเข้าหน้าต่าง ๆ ไม่เกิน 3-4 คลิก รวมไปถึง หน้าตาเว็บไซต์ที่รองรับการใช้ง่ายได้สะดวก 

แมวส้มขอสรุปสิ่งที่ควรโฟกัสในการออกแบบเว็บไซต์ให้ใช้งานง่าย ดังนี้

  • ออกแบบ Menu Bar หรือ Navigator ที่เรียบง่าย เข้าใจได้ทันที ไม่ลึกเกินไป ใช้งานสะดวก เป็นระบบ หรือมี Sub menu ที่ออกแบบเป็นเมนูย่อยลงมาให้เลือก (Drop Down Menu) 
  • ขนาดตัวอักษรและฟอนต์ที่อ่านได้ง่าย อาจแบ่งการใช้งานเป็น หัวข้อหรือ Header อาจเป็นฟอนต์ไม่มีหัวได้ แต่ถ้าเป็นตัวอักษรที่ใช้อ่าน (ที่มีขนาดเล็กกว่า) ภาษาไทยควรเป็นฟอนต์ที่มีหัวเพื่อให้อ่านได้ง่าย
  • ปุ่มเห็นชัดว่าเป็นปุ่มและมีขนาดที่ใหญ่เพียงพอให้คลิกได้ โดยเฉพาะบนอุปกรณ์ Mobile เช่น มือถือ ปุ่มควรจะใหญ่และห่างจากอีกปุ่มอย่างพอดี ให้แตะได้สะดวก นิ้วไม่เบียดพลาดไปกดอีกปุ่ม
  • ปรับแต่งข้อความให้อ่านง่าย (Readability) ไม่ว่าจะเป็นระยะห่างระหว่างบรรทัด ระยะห่างตัวอักษร รวมไปถึงการปรับแต่งข้อความเป็น ตัวหนา ตัวเอียง การใช้เลขกำกับ หรือ Bullet เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานเว็บไซต์สแกนอ่านเนื้อหาได้
  • ออกแบบเว็บไซต์อย่างมีระบบทั้งฟังก์ชันและดีไซน์ เว็บไซต์ที่ดีควรมีระบบในการออกแบบ เช่น การใช้ Icon และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ควรสม่ำเสมอ ไม่ใช่ปะปนกันไปมา จนเกิดความสับสน การดีไซน์องค์ประกอบต่าง ๆ ต้องเป็นระบบ เช่น ขนาดของฟอนต์ สีของตัวอักษรที่คลิกได้ สีของปุ่ม ฯลฯ

3. ใช้ Heading Tag ในการวางโครงสร้างหน้าเพจ

ในการออกแบบเว็บไซต์ให้เข้าใจง่าย สามารถทำเริ่มทำได้ด้วยการวางโครงสร้างหรือ Outline เนื้อหาในแต่ละเพจผ่านการใช้ Heading Tag จัดแบ่งเนื้อหาออกเป็นกลุ่ม ๆ เป็นหัวข้อ ๆ ทั้งหัวข้อหลักและหัวข้อย่อย เพื่อให้ทั้งคนและบอทของ Search Engine เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า หน้าเพจต่าง ๆ บนเว็บไซต์กำลังพูดถึงเรื่องอะไร

ยกตัวอย่าง Outline หรือสารบัญหัวข้อเนื้อหาของบนความบนเว็บแมวส้ม แม้ว่าจะยังไม่ได้อ่านเนื้อหา/รายละเอียดของบทความทั้งหมด ก็สามารถเข้าใจได้ว่า หน้าเพจหรือบทความนี้จะพูดถึงเรื่องอะไรบ้าง 

สารบัญช่วยในเรื่องการทำ SEO

สำหรับหลักการในการวางหัวข้อและใช้ Heading Tag นั้น ให้เน้นลำดับความสำคัญของหัวข้อ และใช้ Heading Tag ที่เรียงกันอย่างเป็นระบบ เรียงลำดับการใช้จาก Heading 1 > Heading 2 > Heading 3 ไม่เรียงสับกันไปมา เช่น Heading3 > Heading 2 

การปรับแต่ง Heading เพื่อรองรับการทำ SEO

ตัวอย่างการวางหัวข้อหรือโครงสร้างเนื้อหาในหน้าเพจ (Heading Tag)

ส่วนวิธีการติด Heading Tag ให้กับหัวข้อ หากใครที่ใช้ WordPress หรือระบบจัดการคอนเทนต์ (CMS) การสามารถเลือก Heading ได้จากหน้าต่างเครื่องมือ หน้าตาน่าจะคล้าย ๆ กันทุกเครื่องมือ แบบนี้

แต่ถ้าใครที่เขียนโค้ดสร้างเว็บขึ้นมาเอง อันนี้ก็ต้องเขียนเองโดยการติด <h1> <h2> หน้าข้อความที่เป็นหัวข้อกันเองนะครับ

4. รองรับการใช้งานบน Mobile (Mobile Responsive Design)

ข้อนี้เป็นเรื่องที่จะพลาดไม่ได้เลย นั่นคือ เราต้องออกแบบเว็บไซต์ให้เหมาะใช้งานบนมือถือด้วย! เพราะในยุคนี้ เชื่อว่า ไม่ว่าใครก็ท่องเว็บไซต์ผ่านสมาร์ทโฟนกันเป็นหลักอยู่แล้ว ไม่ว่าจะหาข้อมูล ซื้อของ หรืออ่านคอนเทนต์ นอกจากนี้ Google และ Search Engine เจ้าอื่น ๆ ก็ให้ความสำคัญกับ Mobile Search มากกว่า Desktop Search กันหมดแล้ว สอดคล้องกับความนิยมการค้นหาของผู้คนในปัจจุบัน

เว็บไซต์ที่ออกแบบมาจึงต้องมั่นใจว่า แสดงผลได้ดีทั้งบนอุปกรณ์ Desktop และ Mobile

[ไม่มั่นใจว่า หน้าตาเว็บไซต์เหมาะกับอุปกรณ์ Mobile หรือเปล่า 👉 เช็กที่นี่]

จะเห็นได้ว่า หน้าตาแสดงผลเว็บไซต์บน Desktop กับ Mobile จะต่างกัน ซึ่งออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานและขนาดจอ สำหรับเรื่องพื้นฐานในการปรับเว็บไซต์ให้เหมาะกับเวอร์ชัน Mobile ก็มีหลายเรื่องด้วยกัน เช่น 

  • Menu Bar และ Navigator ต้องเรียบง่าย เข้าใจง่าย ต่างจากบน Desktop ที่เรามีพื้นที่ในการใส่เมนูย่อย ๆ ต่าง ๆ ได้มากกว่า เมื่อเป็นของ Mobile เราต้องคำนึงว่า คนจะเข้าใจไหมและนิ้วของคนใช้จะเบียดจนกดเมนูพลาดหรือไม่
  • Block Card และ Section ต่าง ๆ ของเว็บไซต์ หลายครั้งบน Desktop เรามีพื้นที่เรียง Block Card ต่าง ๆ ในแนวนอน แต่เมื่อเป็น Mobile ที่พื้นที่แสดงผลจำกัด เราต้องดีไซน์เรียงทั้งหมดลงมาเป็นแนวตั้ง ทั้งนี้ Card และ Section ควรมีไม่มากเกินไป เพราะยิ่งมากก็ยิ่งทำให้ผู้ใช้งานต้องใช้เวลาในการเลื่อนลงมากขึ้น
  • ปุ่มต่าง ๆ ต้องกดง่าย มีขนาดพอดีให้สัมผัสและไม่เบียดกับปุ่มอื่นจนอาจทำให้แตะพลาด
  • ขนาดตัวอักษรและฟอนต์ ต้องอ่านได้ง่าย และมีขนาดไม่เล็กจนเกินไป ผู้ใช้งานส่วนใหญ่สามารถอ่านเนื้อหา/ข้อความบนเว็บได้โดยที่ยังไม่ต้องขยายหน้าจอ
  • การแสดงผลรูปภาพควรจะโหลดขึ้นได้เร็ว ไม่ต่างจากบน Desktop สำหรับบางเว็บนำเสนอรูปภาพที่ความละเอียดหรือ Resolution ต่ำกว่า รูปภาพที่แสดงบนหน้าจอ Desktop

5. เว็บไซต์ต้องโหลดเร็ว (Page Speed Optimization)

การที่เว็บไซต์ของเราโหลดเร็วเป็นปัจจัยอันดับต้น ๆ ที่คนทำเว็บต้องใส่ใจเลยก็ว่าได้ เพราะลองนึกดูว่า หากเราเข้าเว็บไซต์หนึ่ง แล้วต้องรอมากกว่า 3-5 วินาที เราก็คงไม่อยากรอเท่าไหร่ ซึ่งนั่นส่งผลให้ประสบการณ์การใช้งานไม่ค่อยดี และบอทของ Google หรือ Search Engine เจ้าอื่น ๆ เอง ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ค่อนข้างมากเช่นกัน

โดยสรุปแล้ว เวลาจะออกแบบเว็บไซต์ ไม่ว่าอย่างไรก็ควรทำให้เว็บไซต์ของเราโหลดข้ึนเร็ว คนไม่ต้องรอหน้าเพจโหลดนาน ๆ …แต่เว็บของเราควรจะต้องโหลดเร็วเท่าไหร่กันล่ะ?  

สำหรับ Google เขาก็ได้ออกแบบเครื่องมือ PageSpeed Insight มาให้เราไปใช้เช็กกัน ทั้งความเร็วในการโหลดแสดงบน Desktop และบน Mobile โดยเกณฑ์ที่เราควรทำให้ได้ก็คือ Performace โดยรวมเป็นสีเขียว และค่า Metric ความเร็วต่าง ๆ ก็เป็นสีเขียน

หรืออย่างน้อย ๆ เราลองเข้าเว็บไซต์ของเราดู ถ้าไม่ต้องรอนานจนรู้สึกอึดอัดก็ถือว่า อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ 

ความเร็วโหลดเว็บแมวส้มจาก PageSpeed Insight ของ Google

เข้ามาใช้แล้ว คุณว่าเร็วไหม เมี้ยวว ~

แล้วต้องทำอะไรกันบ้าง ถ้าอยากให้เว็บไซต์เร็วขึ้น? 

  • เริ่มต้นตั้งแต่การเลือก Hosting ทำเว็บไซต์ หรือการเลือก Hosting เจ้าที่อยู่ในประเทศหรือใกล้เคียงกับกลุ่มผู้ใช้งาน ก็ช่วยได้
  • องค์ประกอบบนเว็บเพจแต่ละหน้าควรมีเท่าที่จำเป็น กราฟิกหนัก ๆ หรือองค์ประกอบเคลื่อนไหวต่าง  ๆ จะเพิ่มภาระในการโหลด 
  • เลือกธีมออกแบบเว็บไซต์ที่เบา องค์ประกอบตกแต่งไม่มากจนทำให้โหลดช้า
  • เลือกใช้ปลั๊กอินเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะปลั๊กอินทุกตัวที่ติดให้กับเว็บไซต์ หมายถึงเว็บไซต์ต้องทำการโหลดปลั๊กอินเหล่านั้นทุกครั้ง
  • ลดขนาดไฟล์ด้วยการบีบอัดรูปภาพ โดยการหาโปรแกรมบีบอัดไฟล์รูปภาพโดยไม่เสียคุณภาพหรือความละเอียดเข้ามาใช้ เมื่อไฟล์ขนาดเล็กลงทั้งหน้าเพจ เวลาที่ใช้โหลดรูปก็ลดลง
  • ทำ Lazy Load ให้กับรูปภาพ หมายถึง การเรียกข้อมูลหรือรูปภาพมาแสดงทีละช่วง โดยที่ยังไม่ต้องดาวน์โหลดรูปทั้งหน้าเพจในคราวเดียว ทั้ง ๆ ที่ผู้ใช้งานยังไม่ได้เลื่อนลงมาดู วิธีนี้จะช่วยลดภาระในการโหลดหน้าเว็บลง
  • เก็บ Cache ใน Browser หมายถึง การเขียนสคริปต์ลงไปใน Browser ของผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์​เพื่อที่ว่าภายหลังที่เขากลับมาใช้เว็บไซต์เราอีก ก็ไม่จำเป็นต้องโหลดข้อมูลใหม่ทั้งหมด ทำให้โหลดเว็บได้ไวขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคเพิ่มความเร็วเว็บไซต์อีกมากมาย รวมถึงการเพิ่มคะแนน Core Web Vital หรือความเร็วในการโหลดประเภทต่าง ๆ ที่ช่วยยกระดับประสบการณ์การใช้งาน (UX) บนเว็บไซต์ของเราอีกมากมาย แต่เอาเป็นว่า พื้นฐานข้างบนต้องทำก่อนนะ

6. ออกแบบเว็บไซต์ให้มีเนื้อหาคุณภาพ

คนเสิร์ช Google หรือใช้เครื่องมือ Search Engine ต่าง ๆ ก็เพื่อหาคอนเทนต์หรือข้อมูลอ่าน ดังนั้น ปัจจัยที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลยสำหรับการออกแบบเว็บไซต์ ก็คือ การออกแบบเนื้อหาในเว็บไซต์ให้มีคุณภาพและตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย (ที่คาดว่าเขาจะเข้ามาอ่านเนื้อหาบนเว็บของเรา)

โดยสิ่งที่คนมองหาก็คงหนีไม่พ้นเรื่องเหล่านี้

  • คอนเทนต์ที่ให้ข้อมูลอ่านจบในที่เดียว 
  • คอนเทนต์ที่อธิบายง่าย ให้คำตอบที่ชัดเจน 
  • คอนเทนต์ที่มีความเฉพาะตัว (Unique Content) ไม่ใช่เนื้อหาที่ไปลอกเว็บไซต์ของคนอื่นมา (Duplicate Content)
  • คอนเทนต์ที่ดูง่าย น่าสนใจ ซึ่งเราอาจใช้รูปประกอบ อินโฟกราฟิก หรือวิดีโอในการช่วยเล่าเรื่อง/อธิบายเพิ่มเติมได้
  • เนื้อหาคอนเทนต์ที่มีการอัปเดตอยู่เสมอ ข้อมูลน่าเชื่อถือ ไม่เก่าหรือล้าสมัย

นอกจากคนจะให้ความสนใจกับเรื่องเหล่านี้แล้ว อัลกอริทึมของ Google เองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ด้วยเช่นกัน โดย Google ได้แนะนำให้ทำคอนเทนต์จากปัจจัย E-EAT ประกอบไปด้วยปัจจัย 4 อย่างด้วยกัน ได้แก่ Experience (ประสบการณ์) Expertise (ความเชี่ยวชาญ) Authoritativeness (การมีอำนาจอิทธิพล) และ Trustworthiness (ความน่าเชื่อถือ)

คุณสามารถเข้าไปอ่านวิธีทำคอนเทนต์ให้ตรงตามหลัก E-EAT ได้ 👈 ในบทความนี้เลยนะเมี้ยวว ~

7. ปรับปรุงการมองเห็นบนหน้าเสิร์ช (SERP Optimization) 

แม้ว่าจะทำทุกอย่างดีทั้งหมดแล้ว แต่ถ้า ‘หน้าบ้าน’ ของเรายังดูไม่โดดเด่น มองเห็นลำบาก ก็คงไม่มีใครแวะเวียนเข้ามา

เรื่องนี้ก็ใช้ได้กับการออกแบบเว็บไซต์เช่นเดียวกัน แม้ว่าเราจะออกแบบเว็บไซต์หน้าตาสวยงามแค่ไหน เก็บรายละเอียดทุกข้อให้ดีกับ SEO แล้ว แต่ถ้าสิ่งที่คนเห็นบนหน้าค้นหา (SERPs – Search Engine Result Pages) ไม่น่าสนใจ คนก็คงไม่คลิก

โดยส่ิงที่เราควรจะต้องทำก็มี 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 

  • Page Title หรือ Meta Title คือ ชื่อหน้าเพจต่าง ๆ บนเว็บไซต์ของเราที่จะไปปรากฏบนหน้าค้นหาบน Google ดังนั้น ชื่อของเราจะต้องชวนให้คนอยากคลิกเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ 
  • Meta Description คือ ส่วนที่อธิบายว่าเว็บเพจนั้น ๆ ของเรามีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับอะไร หรือผู้อ่านจะได้อะไรจากหน้าเพจเหล่านั้น ส่วนนี้ช่วยให้ทั้งคนและบอทของ Search Engine เข้าใจเนื้อหาของหน้าเพจได้เร็วและง่ายขึ้น
  • Favicon หรือ ไอคอนเว็บไซต์ของเรา เป็นไอคอนที่แสดงด้านหน้าลิงก์ url ของเว็บไซต์บนหน้า SERPs ซึ่งส่วนนี้เราควรใส่ไว้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ช่วยให้คนมั่นใจที่จะคลิกเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรามากขึ้น

คำแนะนำเพิ่มเติม: ออกแบบเว็บไซต์ให้ดีกับ SEO

นอกจากเรื่องการออกแบบ ‘หน้าตา’ และฟังก์ชันต่าง ๆ ของเว็บไซต์ให้ดีกับ SEO แล้ว ไหน ๆ ก็ว่ากันเรื่องเว็บไซต์ แมวส้มอยากแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคทำให้เว็บไซต์ติดอันดับ SEO ได้เร็วขึ้นอีกเล็กน้อย มี 4 เรื่องด้วยกันนะเมี้ยวว ~ (ทักมาปรึกษากันได้นะครับ)

เรื่องแรก แนะนำให้ทำเว็บไซต์ให้เป็น https:// ไม่ใช่แค่ http:// ธรรมดา ๆ เพราะการที่เราจะได้ “s” เข้ามานั้น หมายถึง เรามีระบบป้องกันการแทรกแซงการส่งข้อมูลระหว่าง Host กับอุปกรณ์ของผู้ใช้งาน ซึ่ง Google ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ใช้งาน หากเว็บไซต์ไม่มี “s” ก็อาจถูก Google ตั้งแง่ไว้ก่อนว่า ไม่ปลอดภัย …ข้อนี้จึงเป็นอีกเรื่องที่ไม่ควรพลาด 

เรื่องที่สอง ควรติดตั้ง Google Search Console ให้กับเว็บไซต์ตั้งแต่แรก ซึ่งเครื่องมือนี้ เปรียบเสมือนเครื่องมือที่เราใช้ดูแลเว็บไซต์และติดตามการแสดงผลบนหน้าเสิร์ชของ Google รวมไปถึง ช่วยเราเช็กว่า เว็บไซต์ของเรามีปัญหาอะไรที่ต้องปรับปรุงหรือเปล่า (แนะนำให้ลองศึกษาเองเพิ่มเติมหรือจะปรึกษาแมวส้มเรื่องนี้ก็ได้นะ เมี้ยวว)

เรื่องที่สาม เว็บไซต์เว็บใหม่ ควรจะต้องทำ Sitemap หรือ XML Sitemap ที่เปรียบเสมือนแผนที่นำทางเว็บไซต์ของเราให้กับ Google เพื่อที่บอทของ Google จะได้มีแผนที่ในการเข้ามา crawl เก็บข้อมูลบนเว็บไซต์ของเราได้ง่าย ๆ และครบถ้วน

เรื่องที่สี่ อีกสิ่งที่ควรทำเพื่อเน้นย้ำให้ Google เข้ามาเก็บข้อมูลในเว็บไซต์ของเราอีกรอบ เราควรสร้างไฟล์ Robots.txt หรือสคริปต์คำสั่งให้กับ Google Bot ไปอีกครั้ง หรือเราจะทำคำสั่งว่า ห้ามเข้ามาเก็บข้อมูลเว็บเพจบางหน้าที่เราไม่ต้องการให้เข้ามาก็ได้ 

เรื่องเหล่านี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เว็บไซต์ของเรา ติดอันดับได้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะเป็นการช่วยทำให้ Search Engine เข้าใจเนื้อหาของเว็บไซต์ของเราได้ง่ายขึ้นและครบถ้วน

สรุป ออกแบบเว็บไซต์ยังไงให้ดีกับ SEO

สรุปง่าย ๆ ในย่อหน้าเดียวเลยละกันนะ เมี้ยวว 

หากต้องการออกแบบเว็บไซต์ให้ดีกับ SEO ก็คือ “เรียบง่ายเข้าไว้” ตั้งแต่การออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์ งานดีไซน์และองค์ประกอบต่าง ๆ บนเว็บไซต์ ที่ควรใส่เท่าที่จำเป็น ทำเว็บไซต์ให้โหลดขึ้นเร็ว ๆ คนไม่รอนานจนเปลี่ยนใจเปลี่ยนหน้าเว็บ และที่สำคัญคือ สมัยนี้คนท่องเว็บไซต์ผ่านอุปกรณ์ Mobile อย่างสมาร์ทโฟนเป็นหลัก เราจึงควรให้ความสำคัญกับปรับแต่งเว็บไซต์ให้แสดงผลได้ดีบนอุปกรณ์ Mobile 

จบแล้วเมี้ยวว ~